วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สิงโต (LION)


ลักษณะทั่วไป

  สิงโตเป็นเสือขนาดใหญ่ ขนสั้นเกรียนสีน้ำตาลอ่อน บางตัวอาจมีสีออกเทาเงิน หรือบางตัวก็มีสีอมแดง หรือถึงน้ำตาลแดง ใบหน้ากว้าง ปากค่อนข้างยาว จมูกมักมีสีดำสนิท ม่านตาสีเหลืองหรืออำพัน รูม่านตากลม หูสั้นกลม หลังหูดำ ขาหน้าใหญ่และแข็งแรงกว่าขาหลัง อุ้งตีนกว้าง หางค่อนข้างยาว ปลายหางเป็นพู่สีดำ และมักมีสิ่งคล้ายเดือยแข็งอยู่อันหนึ่งซ่อนอยู่ภายในพู่หางด้วย
สิงโตเป็นสัตว์ตระกูลแมวที่มีความแตกต่างระหว่างเพศชัดเจนที่สุด ตัวผู้มีแผงคอซึ่งเป็นขนยาวหนาขึ้นบริเวณรอบคอและหัวไหล่อย่างหนาแน่นจนกลบใบหูมิด ขนแผงคอสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีดำ บางชนิดขนแผงคอลามไปจนถึงท้อง แผงคอของสิงโตตัวผู้แต่ละพันธุ์ต่างกันมากในแต่ละพื้นที่ พวกที่อยู่ตอนบนสุดและล่างสุดของเขตกระจายพันธุ์มีแผงคอใหญ่และดกมาก อาจลามไปถึงหลังและใต้ท้อง ขนช่วยให้สิงโตมีขนาดใหญ่โตขึ้นแต่ไม่เพิ่มน้ำหนักให้มากนัก คาดว่ามีไว้เพื่อจำแนกเพศและแสดงสถานะของวัย และเพื่ออวดตัวเมียถึงความแข็งแกร่งห้าวหาญสมชาย และอาจมีประโยชน์ในการป้องกันหัวและคอระหว่างการต่อสู้ สิงโตตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้มาก (20-50%) และไม่มีแผงคอ แผงคอของสิงโตมีลักษณะต่างกันไปในแต่ละตัวด้วย นักวิจัยในพื้นที่ก็ใช้ลักษณะของแผงคอในการจำแนกสิงโตแต่ละตัวจากระยะไกล และมีหลักฐานว่าสิงโตก็ใช้รูปร่างของแผงคอในการจำแนกสิงโตตัวผู้จากระยะไกลเช่นกัน
ในสิงโตพันธุ์เอเชีย (Panthera leo persica) แผงคอของตัวผู้มีไม่มากเท่าสิงโตแอฟริกา ผู้กับตัวเมียจึงค่อนข้างคล้ายกัน และมักยังมองเห็นหูพ้นแผงคอออกมา เอกลักษณ์อีกอย่างของสิงโตพันธุ์เอเชียก็คือ มีรอยย่นของหนังทอดยาวตลอดใต้ลำตัวซึ่งมักไม่พบในสิงโตแอฟริกา
ในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ของแอฟริกา สิงโตตัวผู้เต็มวัย (4 ปีขึ้นไป) มีน้ำหนัก181 กิโลกรัมตัวเมียหนัก 126 กิโลกรัม สิงโตวัยรุ่นตัวผู้ (2-4 ปี) หนัก 146 กิโลกรัม ตัวเมียหนัก 103 กิโลกรัม สิงโตตัวผู้ที่ใหญ่ที่สุดหนัก 225 กิโลกรัม ตัวเมียที่ใหญ่ที่สุดหนัก 152 กิโลกรัม ในปี 2536ที่ประเทศเคนยา เคยพบสิงโตตัวผู้ตัวหนึ่งถูกยิงตายใกล้เขาเคนยา มีน้ำหนักถึง 272 กิโลกรัม ตัวผู้มีความยาวตัวถึงหาง 3.3 เมตร
สิงโตเอเชียมีขนาดเล็กกว่าสิงโตแอฟริกา ตัวผู้เต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 160-190 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียหนักประมาณ 110-120 กิโลกรัม ความยาวหัวถึงหางของตัวผู้ 2.92 เมตร
สิงโตดำและสิงโตเผือกเคยพบบ้างแต่น้อย สิงโตเผือกมักพบที่อุทยานแห่งชาติครูเกอร์ นอกจากสิงโตดำและขาวแล้ว ยังเคยมีผู้พบสิงโตขาวแบบ leucism ซึ่งเป็นความผิดปรกติที่มีขนสีขาวซีดแต่ตาและผิวหนังยังมีเม็ดสีอยู่ ต่างจากขาวแบบเผือกซึ่งไม่มีเม็ดสีเลย ใกล้อุทยานแห่งชาติครูเกอร์และเขตรักษาพันธุ์เพื่อล่าอัมโฟโลซี ในประเทศแอฟริกาใต้



สิงโตในอดีต

     สิงโตปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกที่ยุโรปเมื่อราว 600,000 ปีที่แล้ว สิงโตในยุคนั้นมีขนาดใหญ่กว่าสิงโตปัจจุบัน 25 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าเป็นสัตว์ตระกูลแมวที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาบนโลก มีชื่อว่า สิงโตถ้ำยุโรป (Panthera leo spelaea) สิงโตพันธุ์นี้ได้แพร่กระจายไปไกลอย่างน้อยก็ถึงกรุงปักกิ่ง เพราะพบซากดึกดำบรรพ์ของสิงโตอายุ 400,000 ปีบริเวณเดียวกับที่พบซากมนุษย์ปักกิ่งในโจวโข่วเตี้ยนซึ่งก็พบซากของเสือโคร่งเช่นกัน และยังพบภาพวาดของสิงโตตามถ้ำต่าง ๆ และซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุ 200,000 ปี แสดงว่าสิงโตพันธุ์นี้เคยอาศัยร่วมสมัยกับมนุษย์ยุคใหม่มาก่อน นอกจากนี้ยังเคยมีการพบกระดูกสิงโตคู่กับเครื่องมือของมนุษย์นีแอนเดอทรัลมาแล้วด้วย
ในทวีปอเมริกาก็เคยมีสิงโตเช่นกัน สิงโตอเมริกาเหนือ (Panthera atrox) มีรูปร่างคล้ายสิงโตถ้ำยุโรป พบซากดึกดำบรรพ์ของสิงโตพันธุ์นี้ตามไซบีเรียตะวันออก แอแลสกา และที่อื่นในทวีปอเมริกาเหนือ สิงโตอเมริกาอาศัยร่วมกับมนุษย์ หมาป่าไดร์วูล์ฟ (Canis dirus) ม้า และไบซันมาจนถึงราวปี 11,500 ปีก่อน เชื่อกันว่าสิงโตอเมริกาเหนือน่าจะอาศัยเป็นฝูงเช่นเดียวกับสิงโตในแอฟริกาปัจจุบัน
ในยุคไพลโตซีน เขตกระจายพันธุ์ของสิงโตแพร่ไปไกลเหนือสุดถึงอังกฤษ และทางตะวันออกสุดถึงปาเลสไตน์ อาหรับ และอินเดีย
ในศรีลังกา ปัจจุบันไม่มีทั้งสิงโตและเสือโคร่ง และไม่เคยมีการพบซากดึกดำบรรพ์ของสิงโตด้วย เคยมีการพบซากฟันของสิงโตเพียงซี่เดียวเท่านั้น แต่สิงโตได้อยู่ในวัฒนธรรมของศรีลังกาอย่างแน่นแฟ้น ไม่ว่าจะในตำนาน และศิลปะ แม้แต่ชื่อเชื้อชาติของชาวสิงหลซึ่งของชนส่วนใหญ่ของประเทศก็มีความหมายว่า สายเลือดสิงโต ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่าสิงโตน่าจะเคยอาศัยอยู่ในศรีลังกาช่วงใดช่วงหนึ่ง




สายพันธุ์ของสิงโต


          สิงโตในปัจจุบัน เดิมมี 12 ชนิดย่อยที่ได้รับการยอมรับ จำแนกความแตกต่างจาก แผงคอ ขนาด และการกระจายพันธุ์ เพราะลักษณะเหล่านี้ไม่ได้มีนัยสำคัญและมีความแปรผันในแต่ละตัวสูง ทำให้รูปแบบส่วนมากอาจไม่ใช่ชนิดย่อยที่แท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิงโตในสวนสัตว์ซึ่งไม่ทราบแหล่งที่มานั้นอาจมี "ความโดดเด่น แต่ผิดปกติ" ในลักษณะทางสัณฐานวิทยา ปัจจุบันเหลือเพียง 8 ชนิดย่อยที่ได้รับการยอมรับ  แม้ว่าหนึ่งในนั้น (สิงโตแหลมกูดโฮพ ปกติจำแนกเป็น Panthera leo melanochaita) อาจเป็นโมฆะ แม้ว่า 7 ชนิดย่อยที่เหลืออาจดูมาก แต่ความแปรผันของไมโทคอนเดรียในสิงโตแอฟริกาปัจจุบันกลับไม่มากนักซึ่งแสดงว่าสิงโตในตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราทั้งหมดสามารถพิจารณาเป็นชนิดย่อยเดียวกันได้ อาจเป็นเพราะการแยกตัวในสองเครือบรรพบุรุษหลัก หนึ่งในทางตะวันตกของเกรตริฟต์แวลลีย์ และอีกหนึ่งในทางตะวันออก สิงโตจากซาโว (Tsavo) ในทางตะวันออกของประเทศเคนยามีพันธุกรรมใกล้เคียงกับสิงโตในทรานซ์วาล (Transvaal) แอฟริกาใต้มากกว่าสิงโตในเทือกเขาอเบอร์แดร์ (Aberdare) ในทางตะวันตกของประเทศเคนยา ในทางกลับกัน เปอร์ คริสเตียนเซน (Per Christiansen) ทำการวิเคราะห์กะโหลกสิงโต 58 กะโหลกในสามพิพิธภัณฑ์ในยุโรป และพบว่าถ้าใช้สัณฐานวิทยาของกะโหลกสามารถแยกชนิดย่อยได้เป็น krugeri nubica persica และsenegalensis ขณะที่มีการเลื่อมล้ำกันระหว่าง bleyenberghi กับ senegalensis และ krugeri สิงโตเอเชีย persica มีความโดดเด่นอย่างเด่นชัด และสิงโตแหลมกูดโฮพมีลักษณะใกล้ชิดกับสิงโตเอเชียมากกว่าสิงโตแอฟริกา




การล่าและอาหารของสิงโต

สิงโตกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร มันกินสัตว์ได้แทบทุกชนิด เช่น กระต่าย ไก่ป่า จระเข้ ลิง เม่น กวาง ม้าลาย ควายป่า เป็นต้น แม้แต่ซากสิงโตด้วยกันเองก็กิน ลูกสิงโตที่อ่อนแอจะถูกกินเพื่อให้ตัวที่แข็งแรงกว่าได้อยู่รอด



ที่อยู่อาศัยของสิงโต

ในทวีปแอฟริกา สิงโตสามารถพบได้ในทุ่งหญ้าซาวันนา ที่มีต้นอาเคเชียซึ่งคอยให้ร่มเงาขึ้นกระจัดกระจาย สำหรับถิ่นอาศัยในอินเดียคือพื้นที่ป่าหญ้าแล้งและป่าละเมาะแล้งผลัดใบ ในอดีต การกระจายพันธุ์ของสิงโตอยู่ในส่วนใต้ของทวีปยูเรเชีย ช่วงจากประเทศกรีซถึงประเทศอินเดีย และพื้นที่ทั้งหมดของทวีปแอฟริกา ยกเว้น บริเวณป่าดิบชื้นกลางทวีปและทะเลทรายสะฮารา เฮอรอโดทัสรายงานว่าพบสิงโตได้ทั่วไปในกรีซในช่วงเวลาราว 480 ก่อนคริสต์ศักราช มันโจมตีอูฐบรรทุกหีบห่อของกษัตริย์เปอร์เซีย จักรพรรดิเซอร์ซีสมหาราช ในขบวนตลอดทั้งประเทศ อาริสโตเติลกล่าวว่าพบเห็นสิงโตได้ยากในช่วง 300 ก่อนคริสต์ศักราช ในช่วงคริสต์ศักราชที่ 100 มันถูกกำจัดจนหมดสิ้น ประชากรสิงโตอินเดียเหลือรอดจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 10 ในคอเคซัส เป็นที่มั่นสุดท้ายในทวีปยุโรป
สิงโตถูกกำจัดหมดสิ้นไปจากปาเลสไตน์ในสมัยกลาง และจากส่วนที่เหลือของทวีปเอเชียหลังจากการมาถึงของอาวุธปืนที่พร้อมใช้งานในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 สิงโตได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในแอฟริกาเหนือและเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 สิงโตหายไปจากประเทศตุรกีและพื้นที่ทางตอนเหนือส่วนใหญ่ของประเทศอินเดีย ขณะที่ มีการพบเห็นสิงโตอินเดียที่ยังมีชีวิตครั้งสุดท้ายในประเทศอิหร่านในปี ค.ศ. 1941 (ระหว่างชีราซและจาห์รอม (Jahrom) จังหวัดฟาร์ส) แม้ว่ามีการพบศพสิงโตตัวเมียบนฝั่งแม่น้ำการูน (Karun river) จังหวัดคูเซสตาน (Khūzestān) ในปี ค.ศ. 1944 ต่อมาไม่มีรายงานที่เชื่อถือได้จากประเทศอิหร่านอีก สิงโตอินเดียหลงเหลือแค่เพียงในและรอบป่ากีร์ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียเท่านั้นมีสิงโตราว 300 ตัวอาศัยในพื้นที่เขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่า 1,412 กม² (545 ไมล์²) ในรัฐคุชราต ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของป่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรเป็นไปอย่างช้าๆ









การสื่อสาร ระหว่างสิงโตกับมนุษย์

สิงโตถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจและความแข็งแกร่งมาตั้งแต่โบราณ มนุษย์ในทุกภาษา ทุกวัฒนธรรมล้วนแต่ใช้สิงโตเป็นสัญลักษณ์ในเชิงนี้ทั้งนั้น เช่น ในปรัมปราของศาสนาฮินดู พระนารายณ์เคยอวตารลงมาเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งสิงโต ชื่อว่า "นรสิงห์" เพื่อปราบมาร ในวัฒนธรรมไทย เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จออกยังมุขหรือบัญชร จะเรียกว่า "สีหบัญชร" (หมายถึง หน้าต่างสิงโต) และเรียกพระบรมราโชวาทในครั้งนี้ว่า "สีหนาท" (หมายถึง เสียงคำรามของสิงโต) เป็นต้น
ในภาษาบาลีและสันสกฤตมีคำศัพท์เรียกสิงโตในเชิงยกย่องซึ่งเป็นคนที่คนไทยรู้จักกันดี คือ "ราชสีห์" หมายถึงพญาสิงโต หรือราชาแห่งสิงโต ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานถือว่าดุร้ายและมีพละกำลังมาก
ในประเทศจีน ซึ่งไม่มีสิงโตเป็นสัตว์พื้นเมือง แต่ก็รับเอาสิงโตมาจากเปอร์เซีย ก็มีการเชิดสิงโต เป็นการละเล่นประกอบในพิธีมงคลหรือรื่นเริงต่าง ๆ เพราะมีความเชื่อว่า สิงโตเป็นสัตว์ใหญ่ที่สัตว์ต่าง ๆ เกรงขาม จึงมีพลังอำนาจในการขับไล่สิ่งอัปมงคลได้
ในประเทศอังกฤษ ซึ่งอยู่ในภาคพื้นยุโรป ที่ก็ไม่มีสิงโตเป็นสัตว์พื้นเมืองเช่นกัน แต่ก็ใช้สิงโตเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ และสมาคมฟุตบอลอังกฤษก็ใช้สิงโต 3 ตัวเป็นสัญลักษณ์และใช้เป็นสัญลักษณ์ของทีมชาติด้วยเรียกว่า "Three Lions" และกษัตริย์อังกฤษหลายพระองค์ก็ถูกขนานพระราชสมัญญานามเปรียบเทียบกับสิงโตด้วยเช่นกัน เช่นพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 มีพระราชสมัญญานามว่า "พระเจ้าริชาร์ด ใจสิงห์" (Richard the Lionheart) เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น